กุมภาพันธ์ 2566
โดย ดร. Zach Pearl เจ้าหน้าที่ Circadin.com
เป้าหมายของการรักษาอาการนอนไม่หลับ ควรมุ่งเน้นไปที่การปรับปรุงให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีตลอดทั้งวัน โดยการนอนหลับที่ดีนั้นจะส่งผลต่อทำให้มีสุขภาพและการทำกิจวัตรประจำวันในช่วงกลางวันที่ดีขึ้น ทั้งนี้ การจัดการอาการนอนไม่หลับในผู้สูงอายุที่เหมาะสมจะสามารถชะลอการเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล และทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ดูแลและครอบครัวให้ดีขึ้น อีกทั้งยังช่วยลดผลกระทบต่อร่างกายในระบบต่าง ๆ ที่สัมพันธ์กับอาการนอนไม่หลับ ได้แก่ ความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจ, ภาวะซึมเศร้า, การหกล้ม และการเกิดอุบัติเหตุ รวมถึงช่วยปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงาน สมาธิ และความจำของผู้ป่วยได้
แนวทางในการจัดการอาการนอนไม่หลับในเบื้องต้น ควรเริ่มจากการค้นหาสาเหตุของอาการนอนไม่หลับ ซึ่งปัญหาการนอนหลับที่พบในผู้สูงอายุไม่เพียงแต่เป็นผลมาจากความชราเท่านั้น แต่อาจเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ ได้แก่ โรคทางกาย และโรคทางจิตเวช หรือการใช้ยา นอกจากนี้ ในการวินิจฉัยอาการนอนไม่หลับนั้น จำเป็นต้องขอความร่วมมือจากผู้ป่วยในการจดบันทึกข้อมูลการนอนหลับเป็นเวลา 2-3 สัปดาห์ โดยจดบันทึก ดังนี้ เวลานอนหลับตามปกติ, เวลาตื่น, ระยะเวลาและคุณภาพการนอนหลับในแต่ละวัน, การดื่มแอลกอฮอล์, การออกกำลังกาย และ การใช้ยา
การบำบัดโดยการไม่ใช้ยาเป็นการรักษาแรกที่มักถูกนำมาใช้รักษาอาการนอนไม่หลับ โดยใช้การปรับพฤติกรรมการนอนหลับ ได้แก่ การมีสุขอนามัยที่ดีในการนอนหลับ (sleep hygiene), การควบคุมปัจจัยกระตุ้น (stimulus control) และการปรับระยะเวลาที่อยู่บนเตียงให้น้อยลงให้ใกล้เคียงกับระยะเวลาที่นอนหลับได้จริง (sleep restriction)
ทั้งนี้ การบำบัดโดยการไม่ใช้ยาเป็นการรักษาที่เรียบง่าย ต้นทุนต่ำ และมีประสิทธิภาพที่ดี ถึงแม้จะนำแนวทางมาใช้รักษาเดี่ยว ๆ หรือใช้ร่วมกับการบำบัดด้วยการใช้ยา นอกจากนี้ การบำบัดโดยการไม่ใช้ยายังสามารถใช้วิธีการปรับปัจจัยทางสรีรวิทยาได้ด้วย ได้แก่ การรับแสงแดดให้เพียงพอในช่วงกลางวัน และการจัดห้องนอนและเตียงนอนให้มีอุณหภูมิเหมาะสม ระบายอากศดี ไม่ควรมีแสงสว่างแล็ดลอดเข้ามา และไม่ควรมีเสียงดัง
ในปัจจุบัน มีการบำบัดอาการนอนไม่หลับด้วยการใช้ยา ได้แก่ กลุ่มยา benzodiazepines, กลุ่มยาต้านเศร้า, กลุ่มยารักษาจิตเภท และยาแก้แพ้กลุ่มแรก ที่มีฤทธิ์ทำให้ง่วงนอน
กลุ่มยา benzodiazepines และกลุ่มยา non-benzodiazepines (Z-drugs) เป็นกลุ่มยาที่ใช้กันอย่างแพร่หลายสำหรับการรักษาอาการนอนไม่หลับ โดยมีประสิทธิภาพช่วยให้การเข้าสู่การหลับง่ายขึ้น และ/หรือ ช่วยทำให้การนอนหลับนาน อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยในการใช้ยา ได้แก่ ความเสี่ยงของการติดยา, การง่วงนอนที่ตกค้างมาถึงเวลากลางวัน, ผลกระทบต่อกระบวนการรับรู้ กระบวนการคิด และพฤติกรรมการเคลื่อนไหวที่สอดคล้องกับจิตใจแย่ลง, การหกล้ม, การสูญเสียความทรงจำและภาวะสมองเสื่อม ดังนั้น เมื่อเปรียบเทียบประสิทธิภาพกับอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาในกลุ่มนี้ อาจไม่เหมาะสมสำหรับการใช้ในผู้ป่วยสูงอายุ
กลุ่มยารักษาโรคจิตเวช กลุ่มยาต้านเศร้า และกลุ่มยาแก้แพ้ ที่มีฤทธิ์ทำให้ง่วงนอน เป็นยาที่นำมาใช้สำหรับการรักษาอาการนอนไม่หลับโดยไม่ได้ถูกรับรองข้อบ่งใช้ และมีหลักฐานข้อมูลด้านประสิทธิภาพที่ไม่เพียงพอ
ทั้งนี้ พบการจ่ายยากลุ่มเหล่านี้เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากมีความเสี่ยงต่อการติดยา และทนต่อยา น้อยกว่ายากลุ่ม benzodiazepines อย่างไรก็ตาม ควรระมัดระวังการใช้ยาแก้แพ้รุ่นแรก เนื่องจากอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะสมองเสื่อม และโรคอัลไซเมอร์ได้
สำหรับ เมลาโทนิน และยาที่ออกฤทธิ์กระตุ้นตัวรับเมลาโทนิน นั้น เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าระดับฮอร์โมนเมลาโทนินภายในร่างกายจะลดลงตามอายุที่เพิ่มขึ้น ซึ่งการลดลงของระดับฮอร์โมนเมลาโทนินนี้จะส่งผลให้เกิดปัญหาการนอนหลับอย่างยิ่งในผู้สูงอายุ ทั้งด้านคุณภาพการนอนหลับ รวมถึงปัญหาการเข้าสู่การนอน และไม่สามารถนอนหลับได้ยาวทั้งคืน ดังนั้น ผลิตภัณฑ์เมลาโทนินจึงถูกนำมาใช้กันอย่างแพร่หลายสำหรับการรักษาอาการนอนไม่หลับ ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเมลาโทนินหลายรูปแบบที่มีจำหน่ายทั่วไป ดังนั้น จึงควรต้องทราบความแตกต่างระหว่างผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเมลาโทนินกับเมลาโทนินที่ได้ถูกรับรองเป็นยาสำหรับรักษาอาการนอนไม่หลับ เพื่อสามารถเลือกใช้รักษาอาการนอนไม่หลับได้อย่างถูกต้องเหมาะสม
โดยสรุป ควรตระหนักอย่างยิ่งว่า อาการนอนไม่หลับไม่ได้เป็นเพียงปัญหาในการนอนหลับเท่านั้น แต่อาจส่งผลต่อการทำงาน การเรียน และการทำกิจวัตรประจำต่าง ๆ ตลอดทั้งวัน ดังนั้น ควรเลือกการรักษาอาการนอนไม่หลับอย่างเหมาะสม เพื่อปรับปรุงการนอนหลับและช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานในเวลากลางวันด้วย
Comments